วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลักษณะภูมิอากาศของโลก


ลักษณะภูมิอากาศของโลก




ความสัมพันธ์กับมนุษย์กับลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
          การกำหนดว่าบริเวณใดเป็นบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นนั้นถือเกณฑ์เฉลี่ยจำนวนประชากรมากว่า
75 คนต่อตารางกิโลเมตรขึ้นไป ดังนั้นเขตที่ประชากรหนาแน่นของโลก จึงมีอยู่บางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ มีภูมิประเทศเหมาะแก่การเกษตร อุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง เป็นแหล่งที่มีวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมและมีสภาพ ภูมิประเทศอากาศไม่รุนแรง คือ ไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัด เหมาะแก่การอยู่อาศัยและการดำเนินชีวิต การเพิ่มประชากรจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว บริเวณที่มีประชากรหนาแน่นของโลกในปัจจุบันจึงปรากฏในเขตเกษตรกรรมและเขตอุตสาหกรรม
เขตเกษตรกรรม เป็นบริเวณที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร คือ การเพาะปลูกพืชอาหาร และการเลี้ยงสัตว์เขตเกษตรกรรมที่มีประชากรหนาแน่นของโลกในปัจจุบัน มีดังนี้
  • บริเวณเอเชียใต้ โดยเฉพาะประเทศบังกลาเทศ อินเดียและปากีสถานเป็นแหล่งที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมาก คือ ในเนื้อที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีประชากรเฉลี่ย 925 คน 320 คนและ 180 คน ตามลำดับ ประชากรในเอเชียใต้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรจึงอาศัยอยู่หนาแน่นในเขตที่ราบมีน้ำและดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร ได้แก่ เขตที่ราบลุ่มน้ำสินธุ คงคา พรหมบุตรและสาขาของแม่น้ำดังกล่าว โดยแม่น้ำสำคัญ 3 สายนี้มีที่ราบ ดินตะกอนที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกันอย่างกว้างขวางและอีกบริเวณหนึ่งที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นในเอเชียใต้ ได้แก่ เขตที่ราบชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย
  • บริเวณลุ่มน้ำฮวงโหและลุ่มน้ำแยงซีเกียง และชายฝั่งตะวันออกของจีน เป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เพราะเป็นแหล่งเกษตรกรรมดั้งเดิม ปัจจุบันประชากรจีนส่วนใหญ่ก็ยังอาศัยในบริเวณดังกล่าว โดยมีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 133 คน ต่อตารางกิโลเมตร
  • บริเวณอื่น ๆ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ ในประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นราบลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณเกาะชวาประเทศอินโดนีเซียเป็นแหล่งดินอุดมสมบูรณ์ที่เกิดจากเถ้าถ่านของภูเขาไฟและมีฝนตกชุกจากอิทธิพลของลมมรสุม เป็นต้น
 เขตอุตสาหกรรมของโลกที่เป็นแหล่งที่มีประชากรหนาแน่นมี ดังนี้
  • ยุโรปตะวันตก ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และ สหราชอาณาจักร มีวัตถุดิบที่ส่งเสริมด้านอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ถ่านหิน ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ยุโรปตะวันตกพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก บริเวณนี้จึงมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ประชากรมากกว่าล้านคนหลายเมือง เช่น ปารีส บรัสเซลส์ ฮัมบูร์ก มิวนิก เบอร์ลิน โคโลญ อัมสเตอร์ ลอนดอน เบอร์มิงแฮม เป็นต้น
  • บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมการอุตสาหกรรมอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ เหล็กและถ่านหิน จึงช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมืองอุตสาหกรรมในเขตนี้ที่เป็นชุมชนใหญ่มีหลายเมือง เช่น นิวยอร์ก ชิคาโก ดีทรอยต์ ฟิลาเดลเฟีย เป็นต้น
  • ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียที่มีอัตราความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยต่อเนื้อที่สูงมาก คือ มีอัตราความหนาแน่นเฉลี่ย 336 คนต่อตารางกิโลเมตร โดยเศรษฐกิจหลักของญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับกิจการอุตสาหกรรม แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีทรัพยากรที่ใช้ในด้านอุตสาหกรรมน้อย เช่น เหล็ก ถ่านหิน และวัตถุดิบอื่น ๆ แต่ญี่ปุ่นมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จึงสามารถนำทรัพยากรและวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและส่งออกมาเป็นลำดับ 2 ของโลกรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา แหล่งประชากรหนาแน่นมากของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว นาโกยา เกียวโต และโอซากา
  • บริเวณอื่น ๆ ที่มีเศรษฐกิจหลักขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้าหรือบริการ ได้แก่ ประเทศที่มีเนื้อที่น้อย เช่น ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวที่ความหนาแน่นของประชากร 1,266 คน ต่อตารางกิโลเมตร เป็นต้น
บริเวณที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น
บริเวณที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น หมายถึง บริเวณที่มีประชากรเฉลี่ยระหว่าง 25-75 คนต่อตารางกิโลเมตร มักเป็นบริเวณที่มีสภาพเศรษฐกิจหลักขึ้นอยู่กับการเกษตร ดินแดนที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่นของโลกมักปรากฏใน 2 บริเวณ ได้แก่ เขตทุ่งหญ้าและเขตชายฝั่งทะเล

 เขตทุ่งหญ้าที่มีประชากรหนาแน่นของโลก จำแนกได้ 2 บริเวณ ดังนี้
  • ทุ่งหญ้าสะวันนา ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ เขตทุ่งหญ้าสะวันนาที่มีประชากรอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ได้แก่ ประเทศบราซิล ชิลี กัวเตมาลา และฮอนดูรัส เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ใช้วิธีการเกษตรแบบขยาย (extensive cultivation) คือ ใช้เนื้อที่กว้างขวางแต่มีการใช้แรงงานคนหรือสัตว์น้อย เพื่อให้สามารถประกอบการให้ได้ผลผลิตสูงสุด จึงต้องใช้วิทยาการในการคัดเลือกและบำรุงพันธุ์พืชและสัตว์ และเครื่องใช้จักรกลในการบุกเบิก ไถ คราด เพาะปลูก บำรุงรักษาและเก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกในเขตทุ่งหญ้านี้ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย และยาสูบ
  • ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น ดินแดนที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่นในเขตอบอุ่น ได้แก่ ทุ่งหญ้าสเตปป์ในสาธารณรัฐยูเครน ทุ่งหญ้าแพร์รี่ในทวีปอเมริกาเหนือ ทุ่งหญ้าปามปัสในประเทศอาร์เจนตินา ทุ่งหญ้าดาวน์แลนด์ในประเทศออสเตรเลีย เขตทุ่งหญ้าเหล่านี้เป็นแหล่งปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เล่ย์ ส่วนบริเวณที่มีปริมาณฝนน้อย เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ โคเนื้อ แพะ และแกะ § เขตชายฝั่งทะเล ที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่นของโลกมี 2 บริเวณ ดังนี้
  • ชายฝั่งทะเลเขตร้อน ได้แก่ ดินแดนชายฝั่งทะเลในเขตละติจูดต่ำของทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ แต่มีการบุกเบิกเพื่อใช้เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย กาแฟ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
  • ชายฝั่งทะเลเขตอบอุ่น ได้แก่ ชายฝั่งตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลีย ตอนกลางของประเทศชิลี ชายฝั่งของประเทศอาร์เจนตินา พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพด ข้าวสาลีหรือพืชผลเมดิเตอร์เรเนียน แต่มีอาณาเขตไม่กว้างขวางมากนักและมีผลผลิตค่อนข้างสูงเพียงพอต่อการบริโภคของประชากรในเขตนี้
    ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น
     ทุ่งหญ้าสะวันนา
    บริเวณที่มีประชากรเบาบาง
    บริเวณที่มีประชากรเบาบาง หมายถึง บริเวณที่มีประชากรน้อยกว่า 25 คนต่อตารางกิโลเมตร มักเป็นบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากมีลักษณะทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรค ดังนี้
    ภูมิอากาศ ลักษณะอากาศที่ไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ได้แก่
  • ภูมิอากาศหนาว บริเวณที่มีหิมะปกคลุมผิวดินเป็นเวลานาน เป็นการจำกัดการเจริญเติบโตของพืชจึงไม่สามารถเพราะปลูกได้ เขตนี้มักมีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบาง ส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพการประมงและล่าสัตว์ประจำ เขตหนาว ได้แก่ ภาคเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย
  • ภูมิอากาศร้อนชื้น คือ เขตที่มีอากาศร้อนและฝนตกชุก เป็นบริเวณที่มีแมลงเป็นพาหะของโรคภัยไข้เจ็บชุกชุมและมีสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หลายชนิด พืชพรรณธรรมชาติขึ้นหนาทึบเป็นป่าดิบชื้น ทำให้การคมนาคมติดต่อสู่โลกภายนอกค่อนข้างยากลำบาก ได้แก่ บริเวณลุ่มน้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ ลุ่มน้ำคองโกในทวีปแอฟริกา คาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ภูมิอากาศแห้งแล้ง เป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่น้อย เนื่องจากความ แห้งแล้งกันดาร คือ มีปริมาณฝนไม่เกิน 250 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช ยกเว้นบริเวณ โอเอซีส (Oasis)” เท่านั้นที่มีประชากรอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น เพราะสามารถนำน้ำมาใช้ในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ เขตภูมิอากาศแห้งแล้งที่มีประชากรอยู่เบาบาง ได้แก่ บริเวณทะเลทรายโกบีในทวีปเอเชีย ทะเลทรายกิบสันในประเทศออสเตรเลีย ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา เป็นต้น
ภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ คือ บริเวณภูเขาและที่สูง เช่น ภูเขารอกกี้ในทวีปอเมริกาเหนือ ภูเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ ภูเขาแอลป์ในทวีปยุโรป ที่ราบสูงทิเบตในทวีปเอเชีย เป็นต้น ทั้งนี้เพราะบริเวณภูเขาและที่สูงมนุษย์ไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูกและประกอบอาชีพอื่นได้สะดวก เนื่องจากมีพื้นที่สูงชัน ดินมีการพังทลายสูงทำให้ขาดความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ในเขตที่สูงมักมีหิมะน้ำแข็งปกคลุมหรือมีภูมิอากาศแห้งแล้งและเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งและเดินทางติดต่อกัน แม้มีช่องเขาที่สามารถไปมากันได้แต่ก็ไม่สะดวกนัก จึงทำให้เขตที่สูงมีประชากรอาศัยอยู่จำนวนน้อยและเบาบางมาก


การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลก
 การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด เพียงแต่ความรุนแรงของปัญหาในแต่ละซีกโลกอาจไม่เท่ากันหรือแตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและสภาพพื้นที่ที่ปรากฏการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกอาจเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด ก่อให้เกิดเถ้าฝุ่นละอองฟุ้งกระจายไปในบรรยากาศจนเกิดมลพิษทางอากาศขึ้น ไฟไหม้ป่า ทำให้เกิดเขม่าควันไฟฟุ้งกระจายในบรรยากาศ และเป็นการทำลายสารอาหารแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและพื้นผิวดิน ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางดินได้ การเกิดอุทกภัยทำให้กระแสน้ำชะล้างและพัดพาสิ่งสกปรกและสิ่งเป็นพิษบนพื้นดินไหลไปรวมกันอยู่ในแหล่งน้ำจนกลายเป็นปัญหามลพิษทางน้ำได้ นอกจากนี้มนุษย์ก็เป็นผู้กระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการยังชีพและเพื่อการอยู่รอดในสังคม กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม มีลักษณะที่สำคัญแบ่งออกได้ 3 ประการ คือ
การเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งการที่ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นย่อมหมายถึงความต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย ความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติจึงสูญเสียไปก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ
  • การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและทำกิน การทำไร่เลื่อนลอย การบุกรุกทำลายป่า การใช้ทรัพยากรน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำลดลงและคุณภาพเสื่อมโทรมลง
  • การอพยพย้ายถิ่น มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เขตเมืองใหญ่เพื่อหางานทำ ทำให้เกิดปัญหาประชากรหนาแน่นในเขตเมืองเกิดปัญหาชุมชนแออัด
  • การขยายตัวของเมือง มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว อาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรมมีมากขึ้นทำให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ
การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยี มนุษย์พยายามค้นคว้าศึกษาวิจัย เพื่อจะนำเทคนิควิชาการใหม่ๆ มาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เพื่อการเพิ่มผลผลิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่มนุษย์มิได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น จึงเกิดการทำลายธรรมชาติกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้
การกระทำของมนุษย์โดยตรง เกิดจากการกระทำของมนุษย์เองโดยขาดความสำนึกหรือขาดความรับผิดชอบต่อสังคมตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ มนุษย์เราจะทิ้งของเสียไม่ว่าจะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น การทิ้งน้ำเสีย จากอาคารบ้านเรือน การทิ้งขยะไม่เป็นที่ เป็นต้น
 ปัจจุบันมีปัญหาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของโลกที่สำคัญหลายปัญหา ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ อาทิ คลื่นยักษ์สึนามิ ปรากฏการณ์เอลนิญโญ การขยายตัวของทะเลทราย หรือปัญหาที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ อาทิ ชั้นโอโซนรั่ว สภาวะโลกร้อนจากปรากฏการณ์เรือนกระจก สารพิษอุตสาหกรรม เป็นต้น
ปรากฏการณ์เอลนิญโญ (El Niño)
 “เอล นิญโญ” (หรือ เอล นิโน) เป็นภาษาสเปน แปลว่า "เด็กชาย" (Child Boy) หรือ "พระกุมารเยซู" (Infant Jesus) เนื่องจากปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดในช่วงปลายเดือนธันวาคมหลังเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งชาวสเปนเป็นชนชาติแรกที่สังเกตพบปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมแถบอเมริกาใต้ ปรากฏการณ์เอลนิญโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “El Niño – Southern Oscillation” หรือเรียกอย่างสั้นๆ ว่า ENSO ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้
 โดยทั่วไปบริเวณเส้นศูนย์สูตรเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากได้รับแสงอาทิตย์เป็นเวลานานมากกว่าบริเวณอื่น ๆ ในโลก ในสภาพปกติถ้าน้ำอุ่นมีอุณหภูมิสูงขึ้น อากาศที่อยู่เหนือมหาสมุทรก็ยิ่งลอยขึ้นไปสูงมากขึ้น และเกิดเป็นลมสินค้าตะวันออก (Easterly Trade Winds) ซึ่งคนเดินเรือใบในอดีตโดยเฉพาะชาวจีนได้อาศัยลมนี้ในการเดินทางมาค้าขายยังเอเชียใต้ ลมนี้ปกติจะพัดจากชายฝั่งตะวันออก (อเมริกาใต้และอเมริกากลาง บริเวณประเทศเปรู ชิลี เอกวาดอร์) ไปยังชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค (ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ลมสินค้าจะพัดให้กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกเอาไอน้ำมายังแผ่นดินบริเวณประเทศอินโดนีเซียและทวีปออสเตรเลียตอนเหนือซึ่งจะทำให้ฝนตกชุก ส่วนกระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรเบื้องล่างจะไหลเข้ามาแทนที่กระแสน้ำอุ่นในซีกตะวันออกและนำพาธาตุอาหารจากก้นมหาสมุทรขึ้นมาทำให้ปลาชุกชุม เป็นประโยชน์ต่อ นกทะเล และการทำประมงชายฝั่งของประเทศเปรู
แต่ถ้าปีไหนเกิดปรากฏการณ์เอล นิญโญ ลมสินค้าจะมีกำลังอ่อนลง กระแสน้ำอุ่นจะไหลย้อนมาทางตะวันออก ก่อให้เกิดฝนตกหนักในประเทศเปรูและเอกวาดอร์ นอกจากนี้ยังทำให้กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาได้ ทำให้บริเวณชายฝั่งขาดธาตุอาหารสำหรับปลาและนกทะเล ชาวประมงจึงขาดรายได้ ส่วนฝั่งตะวันตกจะก่อให้เกิดความแห้งแล้งและอาจก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียตอนเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสรุปแล้ว เอล นิญโญ คือ การไหลย้อนกลับของผิวน้ำทะเลที่อุ่นในช่วงเวลาหนึ่งๆ จากบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ไปทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก
 ปรากฏการณ์นี้จะไม่เกิดซ้ำ ๆ กันทุกปี การเปลี่ยนแปลงนี้แบ่งออกเป็น 5 ระดับคือ น้อยที่สุด น้อย ปานกลาง มาก มากที่สุด ในระดับแรก (น้อยที่สุด ปานกลาง) มักจะเกิดขึ้นบ่อย และไม่ส่งผลกระทบต่อโลกมากนัก แต่ถ้าเกิดในระดับมากถึงมากที่สุดนั้นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อโลก เช่น เกิด อุทกภัยหรือแห้งแล้งมาก โดยจะเกิดความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องและยาวนานในบริเวณหมู่เกาะด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ตรงกันข้ามความชุ่มชื้นที่มากเกินปกติจะถูกพัดย้อนกลับข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้จนเป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและแผ่นดินถล่ม
 ปรากฏการณ์เอล นิญโญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศในแถบเอเชียซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตรได้รับผลกระทบรุนแรง ในออสเตรเลียความแห้งแล้งก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ทางตอนเหนือ ทำลายพื้นที่เพาะปลูกเทียบเท่าพื้นที่ประเทศอังกฤษทั้งประเทศ ความแห้งแล้งในอินโดนีเซียจัดได้ว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษหลังนี้ความแห้งแล้งซึ่งยืดยาวนานมากกว่า 10 เดือน ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหาร ซ้ำยังเกิดไฟป่าครั้งร้ายแรง ควันไฟก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคอื่น ๆ ซึ่งหมอกควันจำนวนมากแผ่กระจายครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนและภาคใต้ของไทย และปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนน้ำและโรคระบาดที่ติดต่อทางน้ำ เช่น อหิวาตกโรคและโรคท้องร่วง ส่วนทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศเปรูเคยจับปลาพวกแองโชวีน้ำเย็น (Cold-water Anchovy) ได้วันละ 25 ล้านตันแต่เมื่อกระแสน้ำอุ่นจากเอล นิญโญไหลย้อนกลับเข้ามาทำให้ฝูงปลาแองโชวีน้ำเย็นอพยพหนีไป ทำให้จับปลาได้เพียงวันละ 5 ล้านตัน เหตุการณ์เช่นนี้มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เนื่องจากปลาเป็นอาหารโดยตรงและปลาป่นเป็นอาหารสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก
 ปรากฏการณ์เอล นิญโญนั้นก่อให้เกิดผลกระทบที่ใหญ่หลวง จากเดิมที่เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบเฉพาะประเทศที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิคเท่านั้นคือทางแถบอเมริกาเหนือ ใต้ เอเชียและออสเตรเลีย แต่ความจริงปรากฏการณ์นี้ได้ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมหาสมุทรในโลก เช่น ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียแอตแลนติค รวมทั้งทวีปแอฟริกาด้วย เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นกระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงมีผลให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น
ส่วนปรากฏการณ์ "ลา นิญญา" (La Niña) (หรือ ลา นีนา) เป็นคำมาจากภาษาสเปน แปลว่า เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ในทางอุตุนิยมวิทยา หมายถึง ปรากฏการณ์ในทางกลับกันกับเอล นิญโญ โดยอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้เส้นศูนย์สูตรเกิดแปรปรวนและเย็นขึ้นกว่าปกติ ทำให้กระแสลมสินค้าตะวันออกมีกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลียทำให้เกิดฝนตกอย่างหนัก
อาจกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า เอล นิญโญเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักในทวีปอเมริกาใต้และเกิดความแห้งแล้งในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางกลับกัน ลา นิญญาทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเอล นิญโญและลา นิญญาเกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลก บริเวณเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันมีนักวิจัยในระดับโลกมากมายที่พยายามจะศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ เช่น มีการนำเรือสำรวจ หรือวางทุ่นลอยที่ติดเครื่องวัดปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล การศึกษาพื้นที่ในบริเวณเส้น ศูนย์สูตรที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิค ผลที่ได้รับในขณะนี้คือ สามารถที่จะทำนายการเกิดปรากฏการณ์เอล นิญโญล่วงหน้าได้เป็นเวลา 1 ปี แต่ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตวงการวิทยาศาสตร์ จะมีความตื่นตัวและร่วมมือกันศึกษาจนสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลาที่นานกว่านี้ โดยเฉพาะประเทศแถบอเมริกาใต้ ให้ความสนใจและให้ความสำคัญที่จะศึกษาในเรื่องนี้มาก เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรงทั้งทางด้านการประมง เกษตรกรรม สังคมและการท่องเที่ยว

                                                   ปรากฏการณ์เอล นิญโญ ลา นิญญา

สึนามิ (Tsunami)
สึนามิ” (Tsunami) มาจากภาษาญี่ปุ่น เพราะว่าคำว่า สึแปลว่า ท่าเรือ ส่วนคำว่า นามิแปลว่า คลื่น ศัพท์คำนี้บัญญัติขึ้นโดยชาวประมงญี่ปุ่นผู้ซึ่งแล่นเรือกลับเข้าฝั่งมายังท่าเรือ และพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยรายล้อมอยู่รอบท่าเรือนั้นถูกทำลายพังพินาศไปจนหมดสิ้น โดยในระหว่างที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลกว้างนั้นไม่ได้รู้สึกหรือสังเกตพบความผิดปกติของคลื่นดังกล่าวเลย ทั้งนี้เนื่องจากคลื่นสึนามิไม่ใช่ปรากฏการณ์ระดับผิวน้ำในเขตน้ำลึก เพราะคลื่นที่เกิดขึ้นจะมีขนาดของคลื่นขนาดเล็กมากเมื่ออยู่ในพื้นน้ำนอกชายฝั่ง เมื่อเคลื่อนผ่านใต้ท้องเรือไปจะไม่รู้สึกอะไร ทำให้คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นไม่สามารถสังเกตเห็นได้ขณะที่ลอยเรืออยู่บนผิวน้ำกลางทะเลลึก
 คลื่นสึนามิไมใช่คลื่นกระแสน้ำเนื่องจากคลื่นกระแสน้ำจะเกิดโดยพลังลม แต่คลื่นสึนามิโดยทั่วไปการเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล แผ่นดินใต้ทะเลเคลื่อนตัว ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดหรือจากวัตถุนอกโลก เช่น ดาวหางหรืออุกกาบาตขนาดใหญ่ตกสู่พื้นทะเลหรือมหาสมุทรบนผิวโลก คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นนี้จะถาโถมเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้วยความรวดเร็วและรุนแรง สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัยพังพินาศไป
โลกของเราทั้งส่วนที่เป็นมหาสมุทรและทวีปประกอบไปด้วยแผ่นเปลือกโลก (Plates) เป็นชิ้นๆ ต่อกันอยู่ แผ่นเปลือกโลกเหล่านี้มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาเนื่องจากมีการหมุนเวียนหรือไหลวนของหินหลอมละลายภายในโลก ซึ่งการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกเป็นต้นเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวซึ่งไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อไรและด้วยความรุนแรงเท่าใด แต่บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้จะมีการแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อย ๆ การเกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลลึกจะทำให้น้ำทะเลเหนือส่วนนั้นก็ถูกดันหรือดูดเข้ามาแทนที่อย่างฉับพลัน การเคลื่อนตัวของน้ำในปริมาตรหลายล้านตัน ทำให้เกิดคลื่นสะท้อนออกไปทุกทิศ เป็นแหล่งกำเนิดของคลื่นสึนามิ
ในบริเวณมหาสมุทรทุกแห่งในโลกมีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิได้ แต่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลที่ใกล้ขอบทวีปมีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิที่มีขนาดใหญ่และมีพลังการทำลายสูงมากกว่า เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีจุดที่เกิดแผ่นดินไหวและการระเบิดของภูเขาไฟบ่อยครั้งมากมาย โดยเฉพาะบริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกว่า วงแหวนไฟ (Ring of Fire)”
 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในทะเล จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรง แรงกระเพื่อมนี้ถูกถ่ายทอดไปสู่น้ำทะเล ทำให้น้ำทะเลเกิดคลื่น แพร่ออกไปเป็นวงทุกทิศทุกทาง ขณะที่คลื่นยังอยู่เหนือมหาสมุทรที่มีน้ำลึก คลื่นจะมีขนาดใหญ่มาก มีฐานกว้าง 100 กิโลเมตร แต่สูงเพียง 1 เมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 700 – 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อคลื่นเดินทางเข้าใกล้ชายฝั่ง สภาพท้องทะเลที่ตื้นเขินทำให้คลื่นลดความเร็วและอัดตัวจนมีฐานกว้าง 2 – 3 กิโลเมตร แต่สูงถึง 10 – 30 เมตร และกระทบเข้ากับชายฝั่ง คลื่นลูกแรกที่กระทบมักจะไม่ใช่คลื่นที่ลูกใหญ่ที่สุด แต่จะมีคลื่นเป็นระลอกตามมา ซึ่งอาจจะใหญ่กว่า และสามารถรุกล้ำเข้าไปทำลายบนชายฝั่งทะเลลึกถึงนับเป็นกิโลเมตร

                                                              สึนามิ

คลื่นสึนามิแตกต่างจากคลื่นน้ำธรรมดามาก ตัวคลื่นนั้นสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล โดยไม่สูญเสียพลังงาน และสามารถเข้าทำลายชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลจากจุดกำเนิดหลายพันกิโลเมตรได้ โดยทั่วไปแล้วคลื่นสึนามิซึ่งเป็นคลื่นในน้ำ จะเดินทางได้ช้ากว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เป็นคลื่นที่เดินทางในพื้นดิน ดังนั้น คลื่นอาจเข้ากระทบฝั่งภายหลังจากที่ผู้คนบริเวณนั้นรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวเป็นเวลาหลายชั่วโมง
ระบบแจ้งเตือนคลื่นสึนามิระบบแรกของโลกถูกจัดตั้งขึ้นหลังจากอุบัติภัยที่หมู่เกาะฮาวายในปี พ.ศ.2489 สหรัฐอเมริกาจัดตั้ง ศูนย์แจ้งเตือนคลื่นสึนามิแปซิฟิก” (Pacific Tsunami Warning Center) หรือ PTWC โดยมีติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวจำนวน 50 แห่ง รอบมหาสมุทรแปซิฟิก ระบบทำงานโดยการตรวจจับคลื่นแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว (Seismic Wave) 
ซึ่งเดินทางรวดเร็วกว่าคลื่นสึนามิ 15 เท่า ข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากทุกสถานีถูกนำรวมกันเพื่อพยากรณ์หาตำแหน่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดคลื่นสึนามิ เมื่อคลื่นสึนามิถูกตรวจพบ ระบบจะแจ้งเตือนเมืองที่อยู่ชายฝั่ง รวมทั้งประมาณเวลาสถานการณ์ที่คลื่นจะเข้าถึงชายฝั่ง เพื่อที่จะอพยพประชาชนไปอยู่ที่สูง และให้เรือที่จอดอยู่ชายฝั่งเดินทางสู่ท้องทะเลลึกที่ซึ่งคลื่นสึนามิไม่ส่งผลกระทบอันใด อย่างไรก็ตามระบบเตือนภัยนี้สามารถทำการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น การอพยพผู้คนมักทำได้ไม่ทันท่วงที เนื่องจากคลื่นสึนามิเดินทางเร็วมาก
แม้การป้องกันไม่ให้คลื่นสึนามิเกิดขึ้นจะยังทำไม่ได้ ในบางประเทศได้มีการสร้างเครื่องป้องกันและลดความเสียหายในกรณีที่คลื่นสึนามิจะเข้ากระทบฝั่ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นได้มีการสร้างกำแพงป้องกันสึนามิที่มีความสูงกว่า 4.5 เมตร ด้านหน้าของชายฝั่งบริเวณที่มีประชากรหนาแน่น บางที่ได้มีการสร้างกำแพงกันน้ำท่วมและทางระบายน้ำเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางของคลื่น และลดแรงกระแทกของคลื่น ถึงแม้ว่าในกรณีของคลื่นสึนามิที่เข้ากระทบเกาะฮอกไกโดที่มักมีความสูงมากกว่าเครื่อง   กีดขวางที่ได้สร้างขึ้น กำแพงเหล่านี้อาจช่วยลดความเร็วหรือความสูงของคลื่นแต่ไม่สามารถที่จะป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) กับ สภาวะโลกร้อน (Global Warming)
 วิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมระดับโลกที่กำลังสร้างความเสียหายและเป็นภัยต่อมนุษย์มากที่สุดในปัจจุบัน คือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (Average Weather) ในพื้นที่หนึ่ง เช่น อุณหภูมิ ลม ฝน เป็นต้น ไม่ว่าจะเนื่องมาจาก ความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์ก็ตาม โดยเฉพาะสภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการที่โลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ออกไปได้อย่างที่เคยเป็น ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิดังกล่าวสูงขึ้นเพียงไม่กี่องศา แต่ก็ทำให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างรุนแรง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เนื่องจากโลกได้มีการเปลี่ยนสภาพอากาศมาแล้วนับไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายแสนปี แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่ามนุษย์มีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น และเป็นที่แน่ชัดว่ากิจกรรมของมนุษย์มีส่วนเร่งให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวให้มีความรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ
ในสภาวะปกติ โลกเราจะได้รับพลังงานประมาณ 99.95 % จากดวงอาทิตย์ กลไกหนึ่งที่ทำให้โลกรักษาพลังงานความร้อนไว้ได้ คือก๊าซกลุ่มหนึ่งเรียกว่า "ก๊าซเรือนกระจก" (Greenhouse Gas) ที่ทำหน้าที่ดักและสะท้อนความร้อนที่โลกแผ่กลับออกไปในอวกาศให้กลับเข้าไปในโลกอีก หากไม่มีก๊าซกลุ่มนี้ โลกจะไม่สามารถเก็บพลังงานไว้ได้ และจะมีอุณหภูมิแปรปรวนในแต่ละวัน ก๊าซกลุ่มนี้จึงทำหน้าที่เสมือนผ้าห่มบาง ๆ ที่คลุมโลกที่หนาวเย็น แต่สภาพในปัจจุบันนี้ โลกได้มีการสะสมก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากขึ้น เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ ที่ใช้ในกิจกรรมประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดิน การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกไม่สามารถแผ่ความร้อนออกไปได้อย่างที่เคย ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสมือนกับโลกมีผ้าห่มที่หนาขึ้นนั่นเอง

แม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเป็นทอด ๆ และจะมีผลกระทบกับโลกในที่สุด ขณะนี้ผลกระทบดังกล่าวเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การละลายของน้ำแข็งทั่วโลกทั้งที่เป็นธารน้ำแข็ง (Glaciers) แหล่งน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก และในเกาะกรีนแลนด์ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
น้ำแข็งที่อยู่ที่ขั้วโลกโดยเฉพาะขั้วโลกใต้ (ทวีปแอนตาร์กติกา) และบนพื้นทวีปอื่นๆ เมื่อละลายมากขึ้นจะไปเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทร เมื่อประกอบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำสูงขึ้น น้ำก็จะมีการขยายตัวร่วมด้วย ทำให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อาจทำให้เมืองสำคัญ ๆ ที่อยู่ริมมหาสมุทรตกอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลทันที ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า หากน้ำแข็งดังกล่าวละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 6-8 เมตร นอกจากนี้การละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกนอกจากยังทำให้ความเค็มของน้ำทะเลเจือจางลง จะส่งผลให้การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนทิศทาง และความจุความร้อนเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง
ผลกระทบที่เริ่มเห็นได้อีกประการหนึ่งคือ การเกิดพายุหมุนที่มีความถี่มากขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย จะเห็นได้จากข่าวพายุเฮอริเคนที่พัดเข้าถล่มสหรัฐหลายลูกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ละลูกสร้างความเสียหายในระดับหายนะทั้งสิ้น สาเหตุอาจอธิบายได้ในแง่พลังงาน กล่าวคือ เมื่อมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น พลังงานที่พายุได้รับก็มากขึ้นไปด้วย ส่งผลให้พายุมีความรุนแรงกว่าที่เคย
นอกจากนั้น สภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้บางบริเวณในโลกประสบกับสภาวะแห้งแล้งอย่างอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ต้นไม้ในป่าที่เคยทำหน้าที่ดูดกลืนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ล้มตายลงเนื่องจากขาดน้ำ และนอกจากจะไม่ดูดกลืนก๊าซต่อไปแล้ว ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากกระบวนการย่อยสลายด้วย

ก๊าซเรือนกระจกตัวหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อใช้งาน มนุษย์เองเป็นผู้ปล่อยก๊าซนี้ออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อนำพลังงานมาใช้ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น และหากพิจารณาอัตราการใช้พลังงานในช่วงครึ่งศรวรรษที่ผ่านมาจะพบว่าสอดคล้องกับการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเป็นอย่างดี และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ ตรงกันข้ามมนุษย์กลับเร่งผลิตก๊าซเรือนกระจกออกมามากเกินขีดความสามารถของโลกที่จะเยียวยาตนเองได้ทัน การเกิดสภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วและรุนแรงจึงเกิดขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนในครั้งนี้ก็คือ มนุษย์
พ.ศ. 2535 มีการประกาศในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) ที่ประชุม UNFCCC ได้ประกาศรับรองว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ในระดับโลกเป็น "เป้าหมายสูงสุด" ขององค์การฯ แต่เนื่องจากไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย จึงมีการจัดทำ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)” ซึ่งถือได้ว่าเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับภูมิอากาศโลกและเป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับเดียวที่กำหนดอย่างชัดเจนให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายในปีพ.ศ.2551-2555 และมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากที่มีประเทศร่วม ลงนามไม่น้อยกว่า 55 ประเทศ
พิธีสารเกียวโต ผ่านความเห็นชอบในปี พ.ศ. 2540 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบัน พิธีสารเกียวโตเป็นอนุสัญญาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศนานาชาติเพียงฉบับเดียว ที่มีจุดประสงค์เพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นต้นตอของปัญหา เป็นกลไกในระดับนานาชาติเพียง อย่างเดียวที่ให้ประชาคมโลกมุ่งไปสู่การลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างมากที่สุด และยังพยายามเชิญชวนให้รัฐบาลของประเทศที่พัฒนาแล้วรับรองพิธีสารนี้ภายในปี พ.ศ. 2545
ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามพิธีสารเกียวโตในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 ดังนั้นมาตรการนี้จึงส่งผลดีซึ่งทำให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยลดการผลิตพลังงานอันจะก่อให้เกิดมลพิษ อย่างไรก็ตามการลดประมาณก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดตามสนธิสัญญาดังกล่าวนั้นยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็นดังนั้นปัญหาโลกร้อนอันเกิดจากก๊าซเรือนกระจกอาจยังคงอยู่ต่อไปหรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น